วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

๓๑ มกราคม ๒๔๐๘ เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบาง

เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบาง


 พระบางเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ ๑.๑๔เมตร)หล่อด้วยสำริด (ทองคำผสม ๙๐ เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง บั้นพระองค์เล็ก พระโสณีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง

พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และพระบางจำลองวัดพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น พระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง ๒ ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนืองๆ

พระบาง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๒พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น

แต่เมื่ออันเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ.๒๐๕๕ อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๑-๒๓๒๒เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสุตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือ วัดสามปลื้ม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ ปีเศษ

ความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง

ชาวล้านช้างเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า พระพุทธรูปสำคัญย่อมมี ผีคือ เทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผีที่รักษาพระพุทธรูปด้วย เพราะถ้าผีนั้นไม่ได้ความพอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าผีที่รักษาพระพุทธรูปต่างพระองค์เป็นอริกัน หากนำเอาพระพุทธรูปนั้นไว้ใกล้กัน ก็มักเกิดอันตรายด้วยผีวิวาทกัน เลยขัดเคืองต่อผู้ปฏิบัติบูชา

คติที่กล่าวๆมาปรากฏขึ้นในกรุงเทพครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗

ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้านันทเสนบุตร พระเจ้าล้านช้างกราบบังคลทูลว่าผีซึ่งรักษาพระแก้วมรกตกับพระบางเป็นอริกัน พระพุทธรูป ๒พระองค์นั้นอยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตราย อ้างอุทาหรณ์แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข

ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์

ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆ บ้านเมืองไม่ปกติ จนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี

ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไปไว้ ณ นครเวียงจันทน์ โดยให้เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบางเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๐๘


พระบางจึงประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง นับแต่บัดนั้นจนปัจจุบัน

อ้างอิง :
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น