วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ เรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน เสด็จพระราชดำเนินในพิธีปล่อย เรือหลวงจักรีนฤเบศร ลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน เมืองเฟอร์รอล แคว้นกาลิเซีย ประเทศสเปน เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2539 ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540
เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทย ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

·       ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน
·       ยาว 182.50 ม.
·       กว้างสุด 30.50 ม.
·       กินน้ำลึก 6.25 ม.
·       ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า และ
·       เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า
·       ความเร็วสูงสุด 26 นอต
·       ทหารประจำเรือ 601 คน ทหารประจำหน่วยบิน 758 คน
·       สามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และ
·       เฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) อีก 6 เครื่อง
·       ใช้งบประมาณในการสร้าง 7 พันล้านบาท

ความเป็นมาของเรือลำนี้สืบเนื่องมาเมื่อปี พ.ศ 2532 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ ขึ้นในอ่าวไทยจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ประชาชนและชาวประมงที่ประสบเหตุหรือผู้ที่อยู่อาศัยใกล้พื้นที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งในด้านต่างๆอันได้แก่ การคมนาคม การสื่อสาร ต้องถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง กองทัพเรือในฐานะหน่วยกำลังทางทะเล ได้ใช้ความสามารถต่างๆอาทิเช่น กองกำลังทางทะเล และ เครื่องบิน ถึงกระนั้นยังไม่สามารถต้านทานต่อสภาพเลวร้ายทางทะเลในครั้งนั้นได้ และนี่คือแนวคิดในการจัดหาเรือขนาดใหญ่พร้อมเฮลิคอปเตอร์ หรือ อากาศยานที่มีลักษณะเด่นเพื่อใช้ในการช่วยเหลือ และค้นหาผู้ประสบภัยทางทะเลได้ดี อีกทั้งประเทศไทยเราประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะออกไปอีก 200 ไมล์ทะเล ดังนั้นกองทัพเรือจึงมีภารกิจอีกอย่างหนึ่งคือ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอีกทางหนึ่งด้วย 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือ บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลจำนวน 1 ลำจากบริษัทบาซาน ประเทศสเปน วงเงิน ประมาณ 7,100 ล้าน

ภารกิจของ ร.ล จักรีนฤเบศร ในยามสงบ คือการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติในทะเลได้แก่เส้นทางคมนาคม และทรัพยากรธรรมชาติ ของชาติ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลสามารถค้นหาและเป็นฐานปฏิบัติการณ์ลอยน้ำให้กับหน่วยงานต่างๆได้ และยังสามารถเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่คอยช่วยเหลือในกรณีประสบภัยอีกด้วย ทั้งยังสามารถอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือและ คอยควบคุมรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล ส่วนในยามสงคราม เรือจักรีนฤเบศร ก็จะมีหน้าที่ควบคุมและบัญชาการกองเรือในทะเล และปราบเรือดำน้ำและสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารอีกด้วย

 
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีปล่อย ร.ล.จักรีนฤเบศรลงน้ำ  ผู้จัดการอู่ BAZAN ทูลเกล้าฯ ถวายฆ้อน  เพื่อทรงทุบลงบนลิ่ม ตัดผ้าแพรปล่อยขวดแชมเปญ

บัดนี้ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ที่จะประกอบพิธีปล่อยเรือ
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ลงน้ำแล้ว
ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก
ได้โปรดคุ้มครองรักษาให้เรือหลวงจักรีนฤเบศรนี้ พร้อมทั้งทหารประจำเรือ
ตลอดจนผู้ที่จะเดินทางไปกับเรือลำนี้
แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง
ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจด้วยความเรียบร้อย
ปราศจากอุปสรรคใด ๆ
มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่ร้าย
นำประโยชน์ เกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ราชนาวีไทย
และประเทศชาติสืบไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น