วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเปิดโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๕

สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คนในบ้านเมืองของเรา ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอยู่สองชนิด คือ เบี้ย(หอย) กับ เงิน


เบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศ เที่ยวเสาะหาเปลือกหอยลักษณะที่ต้องการตามชายทะเลแล้วเอามาขาย ให้เรารับซื้อไว้ใช้สอย แต่ส่วนเงินนั้นนำเฉพาะตัวโลหะเข้ามาจากต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยาม รูปร่างลักษณะเป็นเงินกลมที่เรียกกันว่า เงินพดด้วงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาโดยตลอด จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและตราประจำของแต่ละรัชกาล

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เปิดการค้าขายกับประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ทำให้เกิดการขยายตัวทางการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัญหามันเกิดตรงนี้ครับ

เงินที่ชาวต่างประเทศใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะแบนๆ เมื่อมีการค้าขายสินค้ากันจึงมีการนำเหรียญแบนของตนเข้ามาซื้อสินค้ากับชาวสยาม ปรากฏว่าราษฎรไม่ยอมรับ จึงต้องเอาเงินเหรียญมาขอแลกเงินพดด้วงกับทางการ แต่เงินพดด้วงนั้น ช่างของพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผลิตเงินพดด้วงด้วยมือนั้น สามารถทำได้วันละ ๒,๔๐๐ บาท เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ ของพ่อค้าชาวต่างประเทศ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงให้ราษฎรรับเงินเหรียญฝรั่งไว้ก่อนแล้วนำมาแลกเงินพดด้วงจากท้องพระคลังภายหลัง

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินตราพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ เป็นเงินเหรียญแบนตามแบบสากลนิยม (ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า เงินแป)เงินเหรียญแบนนี้ สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องจักรผลิตเงินกลับมาด้วย

อันที่จริงก่อนหน้าที่จะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามานั้นเรามีเครื่องจักรผลิตเงิน ทดลองใช้อยู่ก่อนแล้วครับ เครื่องจักรผลิตเงินเครื่องแรกของไทยนั้น พระนางเจ้าวิคตอเรีย สมเด็จพระบรมราชินีนาถของอังกฤษ ส่งเข้ามาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ

ถ้าเป็นแผนการตลาดก็นับว่าได้ผล เพราะแม้ของตัวอย่างจะเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก และใช้แรงงานคนในการผลิต แต่ก็ทำให้เราเห็นประโยชน์จากการมีเครื่องจักรเช่นนี้ เป็นผลให้ต้องสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามา เครื่องจักรที่คณะทูตไทย จัดซื้อเข้ามานั้นแม้จะเป็นเครื่องจักรขนาดปานกลาง แต่ก็มีกำลังผลิตดีกว่าเครื่องแรกมาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงาน สำหรับผลิตเหรียญกระษาปณ์ ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ คือที่สำหรับทำเงินพดด้วงมาแต่ก่อน อยู่มุมถนนออกประตูสุวรรณบริบาลข้างตะวันออก สร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๔๐๓ และได้พระราชทานนามว่า โรงกระษาปณ์สิทธิการใช้ผลิตเหรียญกระษาปณ์ จนกระทั่งเครื่องจักรชำรุด

ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์


ครั้นพุทธศักราช ๒๔๑๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องใหม่ที่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตมากกว่าเดิม และให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ใหม่ขึ้น ทางตะวันออกของประตูสุวรรณบริบาล ใกล้โรงกระษาปณ์เดิม ทรงเสด็จฯ เปิดเมื่อ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๑๙ เครื่องจักรนี้ใช้งานได้ต่อมาอีก ๒๕ ปี


เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๔๔ จึงได้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่ ที่ริมคลองหลอด แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ โดยสั่งเครื่องจักรจากยุโรป เป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า สามารถผลิตเหรียญกระษาปณ์ได้วันละ ๘๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสามารถสนองตอบต่อความต้องการใช้ ของผู้บริโภคอัน เนื่องมาจากความเจริญทางด้านการค้าขายในสมัยนั้นได้


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕ และถือเป็นโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ คือ รัชกาลที่๔ และ รัชกาลที่๕ ทรงครองราชย์อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการรุกทางอารยะธรรมของชาติตะวันตก หากกำหนดยุทธศาสตร์ผิดพลาด ประเทศสยามก็อาจตกเป็นอาณานิคมของชาติเหล่านั้น ตรงข้ามยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดนอกจากจะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัยคุกคาม ยังทำให้ประเทศสยามก้าวสู่ความวัฒนาถาวรในกาลต่อมา

 
พระคุณของบุรพมหากษัตริย์ไทยนั้นมีเป็นอเนกประการ แผ่ไพศาลไปทุกทิศทุกกรณีดังนี้

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเว็บไซต์ต่อไปนี้เป็นอย่างสูง

http://variety.mcot.net/inside.php?docid=1901

http://www.royalthaimint.net/

และ วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น