พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯให้จัดพิธีต้อนรับ อิสิโดร์ กิมารายส์ แฟรนซิสโก (Isidoro Guimarães Francisco) ผู้ว่าราชการมาเก๊า ซึ่งได้รับมอบหมายให้มากรุงเทพฯในฐานะอัครราชทูต การต้อนรับครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ยังได้มีพระราชดำรัสถึงประวัติศาสตร์การติดต่ออันยาวนานต่อกันระหว่างสยามกับโปรตุเกสด้วย
อิสิโดร์ กิมารายส์ แฟรนซิสโก |
ในปี ๒๕๕๔ เรายังมีการเฉลิมฉลอง ๕๐๐ ปี ของความสัมพันธ์ สยาม-โปรตุเกส (๒๐๕๔-๒๕๕๔) หากนับย้อนหลังไป๕๐๐ปี ก็คือตั้งแต่ยุคต้นๆของกรุงศรีอยุธยาเลยครับที่ชาวโปรตุเกสเดินทางมาถึงเมืองหลวงของเรา
ชาติตะวันตกที่มาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับทำมาค้าขาย และเสาะแสวงหาอาณานิคมในภูมิภาคแถบนี้มาจากประเทศใหญ่ๆอยู่ไม่กี่ประเทศครับ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ฮอลันดา และโปรตุเกส ลองนึกถึงประเทศต่างๆรอบบ้านเราดูเถิดครับ ว่าเคยเป็นเมืองอาณานิคมของประเทศใดบ้าง นับไปนับมาก็ไม่พ้นประเทศเหล่านี้
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแผ่เข้ามายังเอเชียในศตวรรษที่ 16 ตามเมืองต่างๆ ที่บรรดาชาติตะวันตกเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ด้วย ในระยะแรกโปรตุเกสและสเปนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในยุคนั้นมีการแข่งขันกันทางด้านการค้าและการเผยแผ่คริสต์ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ จนเกิดการวิวาทกันอยู่เนืองๆ
จนในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงได้ตัดสินให้ยุติข้อวิวาทกัน โดยการให้แบ่งเขตการแสวงหาการค้าทางทะเลด้วยการให้ทำสนธิสัญญา (Treaty of Tordesillas) ขึ้นโดยให้โปรตุเกสขยายอำนาจไปทางทิศตะวันออก และสเปนขยายอำนาจไปทางทิศตะวันตก โดยมีทวีปยุโรปเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นประเทศในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในเขตการขยายอิทธิพลทางทะเลของโปรตุเกสซึ่งรวมทั้งกรุงศรีอยุธยาของเราด้วย
อันที่จริงทั้งสเปนและโปรตุเกสก็ไปมีอาณานิคมอยู่ในเขตพื้นที่ตรงข้ามด้วยเหมือนกันแหละครับ ขณะที่สเปนมายึดหมู่เกาะฟิลิปปินส์เอาไว้ โปรตุเกสก็ข้ามไปยึดบราซิลเอาไว้ด้วยเหมือนกัน คนบราซิลนี่พูดภาษาโปรตุกีสกันนะครับ นักฟุตบอลบราซิลไปเล่นบอลอาชีพที่โปรตุเกสกันหลายคน พวกนี้ไม่มีความยุ่งยากในการสื่อสารอะไรเลย เหมือนๆกับชาวอาเจนตินาซึ่งพูดภาษาสเปนเนื่องจากเคยเป็นอาณานิคมของสเปน ชาวอาเจนตินากับสเปนก็จะใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ
ทางเอเชียเรานั้น ดินแดนซึ่งเป็นแหล่งอาณานิคมสำคัญของโปรตุเกสได้แก่ รัฐกัวทางตะวันตกของอินเดีย บางเมืองแถบมะละกาของมาเลเซียปัจจุบัน กับเกาะมาเก๊าอีกแห่งหนึ่ง ใครไปเที่ยวตามเมืองเหล่านี้ก็จะเห็นสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกส และ อักษรภาษาโปรตุเกสอยู่ทั่วไป
ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ อันเป็นปีเริ่มความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกสนั้น ขุนนางคนสำคัญของโปรตุเกส ชื่อ อะฟองโซ จ'อัลบูเกกี (Afonso de Albuquerque หรือจะเขียนว่า Aphonso d'Albuquerque, Affonso, Alfonso, Alphonso ก็ได้) นายคนนี้เป็นนายพลเรือ และทำหน้าที่เป็นรองผู้ว่าราชการโปรตุเกสประจำอินเดีย เป็นผู้สถาปนาจักรวรรดินิยมโปรตุเกสในมหาสมุทรอินเดีย
อะฟองโซ ยกกองเรือพร้อมทหาร 3,000 คน ยึดมะละกาได้ และเริ่มเปิดการค้ากับศูนย์อำนาจอื่นๆ คือ สยาม พะโค ปาไซ และปัตตานี โดยการส่งทูตชื่อ ดูอาตจ์ เฟนานเจส (Duarte Fernandes) ซึ่งรู้ภาษามาเลย์ อาศัยเรือสินค้าจีนมายังอยุธยา ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
กรุงศรีอยุธยาส่งทูตกลับไปพร้อมกับเฟนานเจส แสดงความยินดีที่จะเปิดการค้ากับโปรตุเกส ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสจึงเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น
ในด้านการทหาร โปรตุเกสนับว่าเป็นพันธมิตรชาวตะวันตกชาติแรกของกรุงศรีอยุธยาทีเดียว ทหารโปรตุเกสเข้าเป็นทหารอาสาในสงครามเมืองเชียงกราน และจากการที่ทหารโปรตุเกสมีอาวุธปืนไฟที่ทันสมัยซึ่งคนในภูมิภาคนี้ยังไม่มีใช้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด และแน่นอนว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของยุทธวิธีการรบในภูมิภาค จากเดิมที่จับดาบวิ่งเข้าตะลุมบอนกัน เป็นการเปิดฉากการรบในระยะไกล ซึ่งนับจากนั้นมา ปืนไฟก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำศึกสงครามโดยตลอด
การเข้าร่วมเป็นทหารอาสาครั้งนั้นทำให้โปรตุเกสได้รับพระราชทานประโยชน์หลายประการ อาทิ เช่น ที่ดินสำหรับจัดสร้างศาสนสถาน ผลประโยชน์จากการค้า และ หมู่บ้านชาวโปรตุเกส ฯลฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสยั่งยืนมานานหลายปี ดีกันบ้าง ขัดใจกันบ้างเหมือนอย่างการคบหาสมาคมของคนทั่วๆไป จนชาวโปรตุเกสมีลูกหลานตั้งรกรากอยู่กรุงสยามมากมายก่ายกอง
วัฒนธรรมทางอาหารการกินหลายอย่างของชาวโปรตุเกสก็แปลงสัญชาติเข้ามาปะปนอยู่กับอาหารและขนมไทยจนเรียบร้อยไปแล้ว
ความสัมพันธ์มาห่างหายไปบ้างคราวที่เราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่หลังจากเราตั้งตัวได้ โปรตุเกสก็เริ่มกลับมาเจริญสัมพันธไมตรีกันอีก
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึง รัชกาลที่ ๓ ความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการผูกไมตรีเพื่อติดต่อค้าขาย แต่ก็ยังมีปริมาณการค้าไม่มากนัก
ปี พ.ศ.๒๓๙๔ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส เพื่อสถาปนาสัมพันธ์ไมตรีและการค้าที่ขาดตอนไป แต่กว่าจะติดต่อกันเป็นทางการได้ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี
จนกระทั่ง วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๒(ค.ศ.๑๘๕๙) อิสิโดร์ กิมารายส์ แฟรนซิสโก (Isidoro Guimarães Francisco) ผู้ว่าราชการมาเก๊า จึงได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในฐานะอัครราชทูต และเราได้จัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ
อ้างอิง :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น