วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วันศิลปินแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๑๐  ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน มีพระนามเดิมว่า ฉิม ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติ  บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นหลวงยกพระบัตรเมืองราชบุรี

พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาจึงโปรดสถาปนาให้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศราสุนทร  ครั้งมีพระชนมายุสมควรที่จะอุปสมบท พระราชบิดาได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส

ตลอดรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โดยเสด็จพระราชบิดาไปในการสงครามทุกครั้ง เมื่อพระชนมายุได้ ๔๑ พรรษา พระราชบิดาได้ทรงสถาปนาให้ดำรงพระยศเป็น พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ดำรงพระเกียรติยศเป็น พระมหาอุปราช อยู่ ๓ ปี 

ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ นับเป็นองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ ได้เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา กับ ๕ เดือน

พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้รูป ครุฑ (ฉิมพลี เป็นชื่อวิมานพญาครุฑ ซึ่งพร้องกับชื่อเดิมของพระองค์ท่านว่า ฉิม)

พระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามเต็มว่า
"พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เหมือนกันทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน ในแต่ละพระองค์ จนในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ว่า ในแต่ละรัชกาลจะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน เว้นแต่สร้อยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่อณุโลมให้ซ้ำกันได้บ้าง ส่วนคำนำหน้าพระนาม รัชกาลที่ ๔ ก็ได้ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ หรือปรเมนทร์" เป็นคำนำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลำดับรัชกาลว่าจะเป็นเลขคี่หรือเลขคู่

เดิมทีเดียวคนสมัยก่อนมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินต้น และเรียกรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินกลาง เหตุเพราะพระนามในพระสุพรรณบัฎเหมือนกัน รัชกาลที่ ๓ จึงไม่โปรดให้ใช้ตามอย่างรัชกาลที่ ๑ และ ๒ เพราะเหตุเช่นนั้น จะทำให้ประชาชนสมัยนั้นเรียกว่าแผ่นดินปลาย ซึ่งดูไม่เป็นมงคล

พระปรีชาสามารถ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้

ด้านกวีนิพนธ์

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด

พระองค์มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ

นอกจากนี้ยังมีละครนอกอื่นๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอมตะใช้แสดงมาจนทุกวันนี้

ด้านปฏิมากรรม /ประติมากรรม

นอกจากจะทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งไทยด้วยพระองค์เอง ซึ่งลักษณะและทรวดทรงของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบอย่างที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ นี้เอง ส่วนด้านการช่างฝีมือและการแกะสลักลวดลายในรัชกาลของพระองค์ได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และพระองค์เองก็ทรงเป็นช่างทั้งการปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญยิ่งพระองค์หนึ่งอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ นอกจากฝีพระหัตถ์ในการปั้นพระพักตร์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกแล้ว ยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย

ด้านดนตรี

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด"และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน(เลื่อน)ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน)ของพระองค์เอง โดยเล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้
เพลงบุหลันลอยเลื่อน http://www.youtube.com/watch?v=mArwjIWXyY&feature=related

เนื่องจากวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่างๆ และทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๘ ประกาศให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เผด็จศึกที่ทุ่งลาดหญ้าในสงครามเก้าทัพ

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๓๒๘

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ระดมพลเข้าตีค่ายพม่าที่ ตำบลลาดหญ้า กาญจนบุรี พร้อมกันทุกด้านในคราวสงครามเก้าทัพ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาได้ ๑๕ ปี และเพิ่งผ่านพ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเต็มไปด้วยการทำศึกสงครามเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในช่วงผ่านศึกสงครามมาใหม่ ๆ เพิ่งเริ่มต้นสร้างราชธานีได้เพียงสอง-สามปีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า บรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อังวะแล้ว ต้องการประกาศแสนยานุภาพ เผยแผ่อิทธิพล โดยได้ทำสงครามรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยรวมถึงเมืองประเทศราชให้เป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้ยกกองกำลังเข้ามาตีไทย โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำสงครามเพื่อทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ให้พินาศย่อยยับเหมือนเช่นกรุงศรีอยุธยา

สงครามครั้งนี้พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาถึง ๙ กองทัพ รวมกำลังพลมากถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น ๕ ทิศทาง

ทัพที่ ๑ ยกมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช

ทัพที่ ๒ ยกเข้ามาทางเมืองราชบุรีเพื่อที่จะรวบรวมกำลังพลกับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้แล้วค่อยเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์

ทัพที่ ๓ และ ๔ เข้ามาทางด่านแม่ละเมาแม่สอด

ทัพที่ ๕-๗ เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตีตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ ๓,๔ ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์

ทัพที่ ๘-๙ เป็นทัพหลวงพระเจ้าปดุงเป็นผู้คุมทัพ โดยมีกำลังพลมากที่สุดถึง ๕๐,๐๐๐ คน ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือ และใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพฯ




ฝ่ายไทยเมื่อทราบข่าวศึกก็วางแผนต่อสู้ โดยจัดกองทัพออกไปสกัดกองทัพพม่าไว้ ๓ ทาง คือ 

            
ทัพที่ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (กรมพระราชบวรสถานพิมุข) ถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันมิให้พม่าที่ยกทัพลงมาทางข้างเหนือล่วงเลยเข้ามาถึงกรุงเทพฯได้ ในช่วงเวลาที่กำลังต่อสู้ข้าศึกทางเมืองกาญจนบุรี 

            
ทัพที่ ๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จเป็นจอมทัพถือพลจำนวน ๓๐,๐๐๐ ไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า) คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปะดงที่จะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ 
             ทัพที่ ๓ เจ้าพระยาธรรมมาธิบดี (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราชถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี คอยต่อสู้พม่าซึ่งจะยกทัพเข้ามาทางใต้หรือทางเมืองทะวาย 

 
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จยกกองทัพออกไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า(ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี)โดยตั้งค่ายหลายค่ายชักปีกกาถึงกันทุกค่ายและให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามไว้ด้วย  แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญ ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายขัดตาทัพพม่าอยู่ทางด่านกรามช้างอันเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่ 

กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ได้ยกทัพหน้าเดินเรื่อยมาและเข้าโจมตีกองมอญที่ด่านกรามช้างแตกพ่ายถอยร่นเข้ามายังค่ายที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพพม่าได้ยกติดตามเข้ามา และปะทะกับกองทัพไทยที่ตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพพม่าจึงได้หยุดยั้งตั้งค่ายอยู่บริเวณชายทุ่งลาดหญ้านั่นเอง


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงคุมกำลังไพร่พลประมาณ ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นกองทัพหลวงเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ ถ้าหากกำลังข้าศึกบุกหนักทางด้านไหนก็จะได้ยกไปช่วยได้ทันที


ส่วนกองทัพหนุนของพม่าที่ยกตามมาก็หยุดยั้งตั้งค่ายเป็นระยะ ๆ ที่ท่าดินแดง สามสบและบริเวณชายแดน ซึ่งได้รับความลำบากมากในเรื่องการส่งและจัดหาเสบียงอาหารจากแดนพม่าข้ามภูเขาและบุกป่าฝ่าดงเข้าส่งให้กับทุกกองทัพ 

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ให้ทหารออกไปโจมตีค่ายพม่า แต่พม่าก็ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง พลทหารไทยและพม่าต่างยิงโต้ตอบกัน ทำให้บาดเจ็บล้มตายลงทั้งสองข้าง

สมเด็จพระบวรราชมหาสุรสิงหนาท จึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี ทั้งสามนายเป็นนายทัพกองโจร และให้พระยารามคำแหง ถือพล ๕๐๐ ยกทัพกองโจรลัดป่าไปคอยซุ่มสกัด คอยตีกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าที่พุไคร้ ทางลำน้ำแควไทรโยค แต่นายกองโจรทั้งสามนายอ่อนแอและย่อท้อได้หลบหนีไปซุ่มตั้งทัพอยู่ที่อื่น สมเด็จพระบวรราชเจ้าสุรสิงหนาทจึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตนายทัพกองโจรทั้งสามนาย แล้วนำศีรษะไปเสียบประจานไว้หน้าค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้า ส่วนปลัดทัพสองนายนั้นก็ให้เอาดาบสับศีรษะคนละ ๓ เสี่ยง เป็นการลงโทษไม่ให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง

แล้วให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย ถือพล ๑,๐๐๐ ยกไปบรรจบกองโจรเดิม อีก ๕๐๐ รวมเป็น ๑,๕๐๐ ไปคอยสกัดกองลำเลียงพม่าที่พุไคร้ มิให้ส่งกองลำเลียงเสบียงอาหารถึงกันได้ กองทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้าจะได้ขาดเสบียงอาหารและอ่อนกำลังลง

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง จับได้พม่า ช้าง ม้า และโค ต่าง ๆ ส่งมายังค่ายหลวงที่ ทุ่งลาดหญ้าอยู่เนือง ๆ 

ฝ่ายแม่ทัพหน้าพม่าทั้งสองนายที่ตั้งค่ายอยู่ที่ชายทุ่งลาดหญ้า ได้แต่งหอรบขึ้นที่ค่ายหน้าหลายแห่ง แล้วให้เอาปืนใหญ่ตั้งขึ้นบนหอรบยิงค่ายกองทัพไทย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทก็ให้เอาปืนลูกไม้แต่ครั้งกรุงธนบุรี(ปืนใหญ่ที่ใช้ท่อนไม้เป็นกระสุน)เข็นออกมาตั้งหน้าค่ายยิงค่ายและหอรบพม่าพังลงหลายแห่งทำให้ไพร่พลบาดเจ็บล้มตาย จนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาโจมตีค่ายไทยทั้งเสบียงอาหารก็ขาดแคลนลง 

ในขณะที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ ที่ทุ่งลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปริวิตกเกรงว่ากำลังไพร่พลจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่ายไป จึงเสด็จ ยกกองทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ เมื่อเสด็จไปถึงค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าก็ทรงปรึกษาราชการสงคราม สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลว่า

พม่าอดอยากมากอยู่แล้วขออย่าได้ทรงพระวิตกถึงการรบที่ทุ่งลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกพ่ายไปในไม่ช้านี้อย่างแน่นอนขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะหนุนกันได้ทันท่วงที

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นชอบด้วยจึงเสด็จยกกองทัพหลวงคืนพระนคร 

ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาททรงทำกลอุบายลวงข้าศึกว่ากองทัพไทยมีกำลังไพร่พลและศาสตราวุธมาหนุนเนืองเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งกำลังพลในกองทัพให้ลอบออกจากค่ายในเวลากลางคืนอย่างเงียบๆและไปให้ไกลพอควร ครั้นรุ่งเช้าก็ยกกระบวนเดินพลช้างม้าเรียงรายเนืองกันขึ้นไปอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่เช้าจนเย็นเพื่อกลับเข้าค่าย

สมเด็จกรมพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงทำกลลวงข้าศึกเช่นนี้อยู่หลายวัน พม่าซึ่งอยู่ที่สูงกว่าและเห็นก็เข้าใจว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมเสมอก็ยิ่งครั่นคร้ามมากขึ้น

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยากและครั่นคร้ามมากแล้ว จึงสั่งให้ไพร่พลเจ้าโจมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน เมื่อ
วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๒๘ ฝ่ายพม่าพยายามสู้รบอยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำครั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็แตกฉานออกจากค่ายหนีไป ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่ายจับไพร่พล และเครื่องศาสตราวุธ ปืนใหญ่น้อยได้เป็นอันมาก

ส่วนพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นนายทัพกองโจรเมื่อทราบว่าทัพพม่าแตกพ่ายแล้วก็นำกองโจรออกสกัดตีซ้ำเติม จับได้ผู้คนเครื่องศษสตรวุธ ช้าง ม้า ส่งเข้ามาถวายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามาหสุรสิงหนาท ณ ค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าเป็นอันมาก 

ครั้งพระเจ้าปะดุงทรงทราบว่ากองทัพหน้าแตกกลับไปก็เห็นว่าจะทำการสู้รบต่อไปไม่สำเร็จ จึงสั่งให้เลิกทัพออกไปเมืองเมาะตะมะอย่างรวดเร็ว

สงครามที่ทุ่งลาดหญ้าคราวนี้ไทยกับพม่าสู้รบขับเคี่ยวกันมาเป็นเวลาประมาณสองเดือนเศษ ผลของสงครามนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพม่าเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน และการประสบชัยชนะอย่างงดงามของกองทัพไทยนั้น ก็เป็นผลเนื่องมาจากความเข้มแข็งความห้าวหาญเด็ดเดี่ยวและความมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมีไหวพริบปฏิภาณในด้านกลศึกอย่างลึกซึ้ง ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เป็นผลเนื่องมาจากวีรกรรมอันห้าวหาญของนักรบบรรพชนของเราทุกท่านที่ได้เป็นกำลังอันสำคัญในการต่อสู้กับพม่าข้าศึกอย่างเข้มแข็งด้วย

ดังนั้นเราจึงควรภูมิใจในวีรกรรมของบรรพบุรุษของเราที่ได้พยายามปกป้องผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักและหวงแหนของเราไว้ได้ และจากสงครามคราวนี้เองได้ทำให้ชื่อเสียงของทุ่งลาดหญ้าจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาวไทยตั้งแต่นั้นมา 



วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พรานบูรพ์ พรานแห่งบูรพทิศ



วงการเพลงและละครเป็นหนี้บุญคุณบุรุษผู้หนึ่ง ท่านเป็นชายร่างเล็กแต่แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจเป็นผู้ปฏิรูปแนวทางเพลงไทยคนแรก จากท่วงทำนองเพลงไทยเดิม ที่แพรวพราวด้วยลูกเอื้อนให้ใกล้ลักษณะสากลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลงานบทละคร บทภาพยนตร์ บทพากษ์ และอื่นๆอีกสารพัดที่เป็นผลงานของท่านก็ได้สร้างความสุขให้แก่ผู้ชม และยังสร้างอาชีพให้กับผู้เกี่ยวข้องในวงการบันเทิงอีกมากมาย

ท่านผู้นี้ใช้นามปากกาว่า พรานบูรพ์ ซึ่งมีความหมายถึง ดวงอาทิตย์

"ผลจากการบุกเบิกเพลงไทยในรูปแบบใหม่ของพรานบูรพ์ได้สืบทอดต่อมายังนักเพลงรุ่นหลังๆจนทุกวันนี้ ดังนั้นจะถือว่าพรานบูรพ์ คือผู้ริเริ่มเพลงไทยสากลก็ไม่ผิดนัก"

สำหรับคนรุ่นใหม่นาม พรานบูรพ์ อาจไม่เป็นที่รู้จัก เพลงของพรานบูรพ์อาจไม่คุ้นหู แต่สำหรับผู้สูงวัยแล้ว ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักอย่างดี และบทเพลงของท่านก็เป็นอมตะที่ยังให้อารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดีแม้วันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด

พรานบูรพ์เริ่มแต่งเพลงแบบสากลมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๗๒ แต่เพลงของท่านเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อห้างแผ่นเสียง ต.เง็กชวนอัดเพลงของพรานบูรพ์ออกจำหน่าย

นอกจากอัจฉริยะในการประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงแล้ว ท่านยังมีเอกลักษณ์ในการใส่เนื้อและทำนอง ไม่เหมือนใคร ความหมายของเนื้อร้องกับทำนองเพลง กลมกลืนกันอย่างดีเยี่ยม...ไม่ว่าจะเป็นเพลงแบบรักหวาน เพลงแบบกระทบกระเทือนสังคม หรือเพลงประเภทปลุกใจรักชาติ ก็สามารถโน้มน้าวให้ผู้ร้องผู้ฟัง ร้องได้อย่างชื่นชมและจดจำไปนาน

พรานบูรพ์มีชื่อจริงว่า จวงจันทร์ จันทร์คณา เป็นบุตรของหลวงราชสมบัติ(จันทร์) และนางสร้อย เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2444 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากบิดาเป็นข้าราชการ ซึ่งต้องโยกย้ายไปรับราชการตามจังหวัดต่างๆ เมื่อเติบโตถึงวัยที่จะเข้าศึกษาได้ บิดาได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี จึงได้เข้าเรียนที่วัดสัตนาถ เรียนอยู่ได้ไม่นาน บิดาถึงแก่กรรม ขณะนั้นมีอายุได้ 7ปี มารดาได้พาไปอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เรียนหนังสือต่อจนอายุ 11 ปี จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนั้น นอกจากได้เข้ารับเลือกเล่นฟุตบอลในทีมโรงเรียนแล้ว ยังสามารถเล่นไวโอลินได้อีกด้วย

เมื่อจบจากสวนกุหลาบฯ "จวงจันทน์ จันทร์คณา" ได้เข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะรัฐประศาสน์ (รัฐศาสตร์) ต่อมาย้ายไปเรียนคณะวิศวะกรรมศาสตร์ตามคำแนะนำของอาจารย์ แต่ก็เรียนไม่จบเนื่องจากมารดาเสียชีวิต จึงขาดผู้สนับสนุน

หลังจากไปเป็นลูกมือคุณหลวงนักสำรวจท่านหนึ่งอยู่หลายปี ก็เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ และการประพันธ์

ระยะนี้เป็นระยะที่ละครราตรีพัฒนา เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มใช้ชีวิตละครด้วยการบอกบทอยู่หลังฉาก ขณะเดียวกันก็เขียนบทกวีในนาม"อำแดงขำ"เรื่องอ่านเล่นในนามปากการักร้อย ลงในหนังสือยุคนั้นและนามปากกา "ศรี จันทร์งาม" ในหนังสือเนตรนารี

ต่อมาได้แต่งบทละครเรื่อง "ทะแกล้วทหารสามเกลอ" ขึ้นเป็นเรื่องแรก ก็ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี จนได้เป็นผู้แต่งบทละครเอง กำกับการแสดงเอง และได้ใช้นามปากกา "พรานบูรพ์" เป็นครั้งแรก เมื่อเขียนเรื่อง "เหยี่ยวทะเล"

เนื่องจากบทละครของเขาเป็นที่นิยมของคนดู พรานบูรพ์จึงได้ดัดแปลงเพลงไทยเดิมที่มีลูกคู่ร้องรับ มาสู่แบบสากล โดยที่ทำนองเพลงที่ใช้กับบทละครร้องยุคนั้น มีลูกคู่ยืดยาดเกินควร จึงใส่เนื้อร้องเต็มแทนลูกคู่ใช้ดนตรีคลอ ฟังทันหูทันใจ จึงเป็นที่นิยมของประชาชนคนดูมาก

ต่อมาได้จัดตั้งละครคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า "ศรีโอภาส" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "จันทโรภาส" ละครที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ"เรื่องจันทร์เจ้าขา"ซึ่งแสดงที่ไหน ก็มีแฟนละครตามไปดูแน่นทุกรอบทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ต่อมา"จันทร์เจ้าขา"ได้ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ โดยมีเจือ จักษุรักษ์ เป็นพระเอก สายสนม นางงามเพชรบุรีเป็นนางเอก และน้อย (มารดาของ จงรัก จันทร์คณา เป็นนางรอง)

พรานบูรพ์ เป็นผู้ริเริ่มทำบทพากย์ภาพยนตร์ การพากย์ในยุคแรกนั้น เป็นการเล่าเรื่องหน้าจอให้คนฟัง ก่อนหนังฉาย ต่อมาก็เป็นการพากย์แบบโขน ให้แก่หนังแขกเรื่องแรกที่เข้ามาฉาย คือเรื่องรามเกียรติ์ และต่อมาก็เป็นการพากย์แบบปัจจุบัน โดยมีดนตรีประกอบด้วย ภาพยนตร์เรื่องแรกนั้น คืออาบูหะซัน มีทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) เป็นผู้พากย์เป็นคนแรก

ในด้านภาพยนตร์ พรานบูรพ์ ได้สร้างบทภาพยนตร์ ให้กับ บริษัทภาพยนตร์ศรีกรุง หลายเรื่อง เช่น ใน สวนรัก อ้ายค่อม ค่ายบางระจัน และบทภาพยนตร์ สนิมในใจ สามหัวใจ แผลเก่า ให้กับ บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ และสร้างเอง เช่น วังหลวง วังหลัง ฯลฯ

บั้นปลายของชีวิต เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมสุขภาพก็ทรุดโทรมลงเรื่อยมา แต่ก็ยังพยายามเขียนบทละครเก่าแก่ คือ เรื่องขวัญใจโจร ให้คณะละครคณะหนึ่งที่มาขอไว้ เพื่อจะนำไปแสดงทางโทรทัศน์ จนจบ


พรานบูรพ์เสียชีวิตด้วยระบบลมหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2519 อายุได้ 74 ปีบริบูรณ์


หุ่นขี้ผึ้ง "พรานบูรพ์"ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง แสดงอิริยาบทที่ถนัด ขณะแต่งเพลง


ข้อมูล จาก หนังสืออนุสรณ์พรานบูรพ์ และข้อเขียนของ คีตา พญาไท



วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเปิดโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๕

สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คนในบ้านเมืองของเรา ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอยู่สองชนิด คือ เบี้ย(หอย) กับ เงิน


เบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศ เที่ยวเสาะหาเปลือกหอยลักษณะที่ต้องการตามชายทะเลแล้วเอามาขาย ให้เรารับซื้อไว้ใช้สอย แต่ส่วนเงินนั้นนำเฉพาะตัวโลหะเข้ามาจากต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยาม รูปร่างลักษณะเป็นเงินกลมที่เรียกกันว่า เงินพดด้วงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาโดยตลอด จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและตราประจำของแต่ละรัชกาล

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เปิดการค้าขายกับประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ทำให้เกิดการขยายตัวทางการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัญหามันเกิดตรงนี้ครับ

เงินที่ชาวต่างประเทศใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะแบนๆ เมื่อมีการค้าขายสินค้ากันจึงมีการนำเหรียญแบนของตนเข้ามาซื้อสินค้ากับชาวสยาม ปรากฏว่าราษฎรไม่ยอมรับ จึงต้องเอาเงินเหรียญมาขอแลกเงินพดด้วงกับทางการ แต่เงินพดด้วงนั้น ช่างของพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผลิตเงินพดด้วงด้วยมือนั้น สามารถทำได้วันละ ๒,๔๐๐ บาท เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ ของพ่อค้าชาวต่างประเทศ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงให้ราษฎรรับเงินเหรียญฝรั่งไว้ก่อนแล้วนำมาแลกเงินพดด้วงจากท้องพระคลังภายหลัง

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินตราพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ เป็นเงินเหรียญแบนตามแบบสากลนิยม (ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า เงินแป)เงินเหรียญแบนนี้ สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องจักรผลิตเงินกลับมาด้วย

อันที่จริงก่อนหน้าที่จะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามานั้นเรามีเครื่องจักรผลิตเงิน ทดลองใช้อยู่ก่อนแล้วครับ เครื่องจักรผลิตเงินเครื่องแรกของไทยนั้น พระนางเจ้าวิคตอเรีย สมเด็จพระบรมราชินีนาถของอังกฤษ ส่งเข้ามาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ

ถ้าเป็นแผนการตลาดก็นับว่าได้ผล เพราะแม้ของตัวอย่างจะเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก และใช้แรงงานคนในการผลิต แต่ก็ทำให้เราเห็นประโยชน์จากการมีเครื่องจักรเช่นนี้ เป็นผลให้ต้องสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามา เครื่องจักรที่คณะทูตไทย จัดซื้อเข้ามานั้นแม้จะเป็นเครื่องจักรขนาดปานกลาง แต่ก็มีกำลังผลิตดีกว่าเครื่องแรกมาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงาน สำหรับผลิตเหรียญกระษาปณ์ ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ คือที่สำหรับทำเงินพดด้วงมาแต่ก่อน อยู่มุมถนนออกประตูสุวรรณบริบาลข้างตะวันออก สร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๔๐๓ และได้พระราชทานนามว่า โรงกระษาปณ์สิทธิการใช้ผลิตเหรียญกระษาปณ์ จนกระทั่งเครื่องจักรชำรุด

ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์


ครั้นพุทธศักราช ๒๔๑๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องใหม่ที่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตมากกว่าเดิม และให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ใหม่ขึ้น ทางตะวันออกของประตูสุวรรณบริบาล ใกล้โรงกระษาปณ์เดิม ทรงเสด็จฯ เปิดเมื่อ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๑๙ เครื่องจักรนี้ใช้งานได้ต่อมาอีก ๒๕ ปี


เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๔๔ จึงได้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่ ที่ริมคลองหลอด แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ โดยสั่งเครื่องจักรจากยุโรป เป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า สามารถผลิตเหรียญกระษาปณ์ได้วันละ ๘๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสามารถสนองตอบต่อความต้องการใช้ ของผู้บริโภคอัน เนื่องมาจากความเจริญทางด้านการค้าขายในสมัยนั้นได้


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕ และถือเป็นโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ คือ รัชกาลที่๔ และ รัชกาลที่๕ ทรงครองราชย์อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการรุกทางอารยะธรรมของชาติตะวันตก หากกำหนดยุทธศาสตร์ผิดพลาด ประเทศสยามก็อาจตกเป็นอาณานิคมของชาติเหล่านั้น ตรงข้ามยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดนอกจากจะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัยคุกคาม ยังทำให้ประเทศสยามก้าวสู่ความวัฒนาถาวรในกาลต่อมา

 
พระคุณของบุรพมหากษัตริย์ไทยนั้นมีเป็นอเนกประการ แผ่ไพศาลไปทุกทิศทุกกรณีดังนี้

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเว็บไซต์ต่อไปนี้เป็นอย่างสูง

http://variety.mcot.net/inside.php?docid=1901

http://www.royalthaimint.net/

และ วิกิพีเดีย

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

๓๑ มกราคม ๒๔๐๘ เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบาง

เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบาง


 พระบางเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ ๑.๑๔เมตร)หล่อด้วยสำริด (ทองคำผสม ๙๐ เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง บั้นพระองค์เล็ก พระโสณีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง

พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และพระบางจำลองวัดพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น พระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง ๒ ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนืองๆ

พระบาง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๒พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น

แต่เมื่ออันเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ.๒๐๕๕ อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๑-๒๓๒๒เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสุตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือ วัดสามปลื้ม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ ปีเศษ

ความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง

ชาวล้านช้างเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า พระพุทธรูปสำคัญย่อมมี ผีคือ เทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผีที่รักษาพระพุทธรูปด้วย เพราะถ้าผีนั้นไม่ได้ความพอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าผีที่รักษาพระพุทธรูปต่างพระองค์เป็นอริกัน หากนำเอาพระพุทธรูปนั้นไว้ใกล้กัน ก็มักเกิดอันตรายด้วยผีวิวาทกัน เลยขัดเคืองต่อผู้ปฏิบัติบูชา

คติที่กล่าวๆมาปรากฏขึ้นในกรุงเทพครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗

ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้านันทเสนบุตร พระเจ้าล้านช้างกราบบังคลทูลว่าผีซึ่งรักษาพระแก้วมรกตกับพระบางเป็นอริกัน พระพุทธรูป ๒พระองค์นั้นอยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตราย อ้างอุทาหรณ์แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข

ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์

ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆ บ้านเมืองไม่ปกติ จนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี

ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไปไว้ ณ นครเวียงจันทน์ โดยให้เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบางเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๐๘


พระบางจึงประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง นับแต่บัดนั้นจนปัจจุบัน

อ้างอิง :
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ จลาจลบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ


เกิดข่าวลือในประเทศกัมพูชาว่า สุวนันท์ คงยิ่ง นักแสดงหญิงชาวไทยขวัญใจชาวกัมพูชา ได้กล่าวว่านครวัดเป็นของไทย เป็นเหตุให้ชาวกัมพูชาโกรธแค้นและก่อการจลาจลในกรุงพนมเปญ โดยได้บุกเผาสถานทูตไทยและยังบุกเผาหรือเข้าทำลายข้าวของและฉกฉวยเอาทรัพย์สินของบริษัทห้างร้านอาคารพาณิชย์ที่คนไทยเป็นเจ้าของ ในกรุงพนมเปญสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทางด้านรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แก้ปัญหาโดยส่งเครื่องบินลำเลียงซี-130 ไปรับคนไทยกว่า๕๐๐คน กลับประเทศ ทำการปิดด่านชายแดน ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย

                                                                
จากเหตุจลาจลครั้งนั้น รัฐบาลกัมพูชาได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายไทยรวมเป็นเงิน๒,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย ได้รับการชดใช้เป็นการลดหย่อนภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ แทนเงินสดเป็นส่วนใหญ่


หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการวิเคราะห์กันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองความขัดแย้งภายในของกัมพูชาเองเพราะใกล้จะมีการเลือกตั้ง อีกสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการค้าไม่ลงตัว เกิดกระแสค่านิยมรักชาติ ห้ามการร้องเพลงไทย ห้ามรายการโทรทัศน์ไทย ห้ามสร้างบ้านแบบไทย


กระแสรักชาติที่ถูกปลุกเป็นระยะกลายเป็นการคลั่งชาติ สุดท้ายระเบิดด้วยข่าวลือเรื่องดาราสาว สุวนันท์ คงยิ่ง ที่ปล่อยข่าวว่าเธอพูดจาดูหมิ่น

นอกจากสาเหตุทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ควรดูที่ประวัติศาสตร์ระหว่างไทยและเขมรที่มีความสัมพันธ์กันมานานกว่าพันปี

อาณาจักรอันรุ่งเรืองของเขมรโบราณคือนครวัด นครธม มีเมืองหลวงมีชื่อเป็นทางการว่า ยโสธรปุระ ถูกกองทัพอยุธยาตีแตก ๓ ครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอู่ทองหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้สอง-สามปี ครั้งที่สองในสมัยพระราเมศวร และครั้งที่สามในสมัยเจ้าสามพระยา เขมรเสียเมือง ต้องทิ้งให้นครวัดนครธมที่เคยยิ่งใหญ่กลับกลายเป็นเมืองร้าง แล้วย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่เมืองละแวก ซึ่งในสมัยพระนเรศวร ก็ยกทัพไปตีแตกและทำลายเมือง เขมรต้องย้ายไปเมืองอุดง แล้วไปอยู่ที่เมืองจตุรมุข หรือ พนมเปญในปัจจุบัน
คนเขมรรู้สึกอย่างไร ดูจากประวัติศาสตร์ แล้วเทียบเคียงความรู้สึกของคนไทยกับสิ่งที่พม่าทำกับกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะพอเข้าใจได้
ความสัมพันธ์ไทย-เขมรปัจจุบันมีลักษณะไม่เท่าเทียม ด้านเศรษฐกิจเขมรเสียดุลการค้าไทยมากที่สุด อาจจะประมาณสองหมื่นล้าน เครื่องอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ไปจากไทย ในแง่ฐานะทางเศรษฐกิจเรารวยกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้เกิดความชิงชังโดยส่วนรวม ในแง่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมไทย ซึ่งรวมทั้ง ภาษา เพลง ดนตรี ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ต่างๆของไทย เข้าไปเผยแพร่และได้รับความนิยมในกัมพูชามาก
ความคิดเรื่องเสียดุลการค้าและถูกรุกรานทางวัฒนธรรม อาจจะคล้าย ๆ กับเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วที่ไทยเสียดุลการค้าญี่ปุ่นมาก มีการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต เราคงต้องเรียนรู้จากการแก้ไขปัญหาของญี่ปุ่น  จะเห็นได้ว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นได้ปรับตัว ทุ่มเงินจัดการเรื่องสร้างความเข้าใจทาง วัฒนธรรม ภาษา มีการแปลนิยายไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น เอาหนังไทยไปฉาย ไทยอาจต้องทำแบบนั้นบ้างกับประเทศเพื่อนบ้าน
ตำราประวัติศาสตร์ต้องชำระให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง ในอดีตเรามองว่าสงครามไทยรบพม่ารบเขมร แต่ที่จริงแล้วคือเรื่องของเมืองต่อเมือง อาณาจักรต่ออาณาจักร กษัตริย์ต่อกษัตริย์ ไม่ใช่ชนชาติทั้งชนชาติไปรบกัน ไม่ใช่ความเกลียดชังในฐานะคนไทยกับคนเขมร คนพม่า  
อีกไม่กี่ปีปีข้างหน้า สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับชาวภูมิภาคอุษาคเนย์กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน แต่เมื่อมองดูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆแล้ว ก็จะเห็นว่าปัญหาต่างๆยังรอการแก้ไขอยู่อีกไม่ใช่น้อย
การตีความประวัติศาสตร์แบบผิด ๆ อันอาจสืบเนื่องมาจากอคติระหว่างชนชาติ และ อาจก่อให้ เกิดอคติต่อเนื่องไปไม่รู้จบ ควรต้องมีการเอาตำราประวัติศาสตร์ สังคมศึกษามาแปลดูกันในหมู่อาเซียน แล้วชำระกันใหม่ให้ถูกต้องตามหลักฐานทางวิชาการ แน่นอนว่า อาจเป็นการยากที่จะลบความทรงจำของคนในรุ่นนี้ที่ได้รับการปลูกฝังความเชื่อมานาน และยากยิ่งกว่าที่จะยอมรับความจริงใหม่ๆที่ค้านกับความเชื่อเดิมนั้น แต่หากไม่เริ่มลงมือทำ ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างประเทศก็จะเป็นระเบิดเวลาที่รอการประทุขึ้นอีกไม่รู้ว่าวันใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาบิดเบือน หรือ ใช้ความจริงบางส่วนมาสนองต่อผลประโยชน์ทางการเมือง ก็จะยิ่งซ้ำเติมความรุนแรงให้หนักหนายิ่งขึ้นจนยากที่จะแก้
ชาวกัมพูชาเคยตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองประเทศเขามาแล้ว ผู้ที่ได้รับผลเสียหายก็หนีไม่พ้นประชาชนทั้งสองประเทศ ชาวไทย พ.ศ.นี้ ระวังไว้บ้างก็ดีนะครับ อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อนักการเมืองเป็นอันขาด เพราะสุดท้ายแล้วก็มีแต่ประชาชนอย่างเราๆนี่แหละครับที่เดือดร้อน นักการเมืองน่ะ เอาเข้าจริงก็เผ่นไปไหนต่อไหนแล้ว

ขอบคุณWeb site ต่อไปนี้เป็นอย่างยิ่งครับ :
http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1058350734.news